Category Archives: PERSONAL life

เมื่อเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์

Life event!

ในที่สุด เราก็ได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ละค่า เป็นเบอร์ที่ใช้มา 10+ ปี ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกเลยมั้ง

จริงๆ ตั้งแต่เริ่มมีศาสตร์การดูดวงเบอร์โทรศัพท์ เราก็เคยเอาเบอร์เราไปใส่ดูดวงตามเว็บอยู่นะ ซึ่งเบอร์เราเป็นเบอร์ที่ไม่ดีอะ เลขติดลบเลยแหละ แต่ก็หาได้แคร์ไม่ เพราะคิดว่า action = reaction ชะตากรรมเราเป็นคนกำหนดเอง ก็คิดแบบนี้มาตลอดเนอะ

จนกระทั่งโควิดทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป ต่างๆ นานา มากมาย สารพัด เล่าไม่หมด 55555 เราก็เลยคิดว่า อะไรที่มันหนุนนำเราได้บ้างก็คงจะดี 5555 แต่ก็ไม่ได้ไปมูเตลูเต็มตัวอะไรขนาดนั้นนะคะ แค่อยากจะเชื่อในตัวเลขบางอย่างดูบ้าง ประจวบกับเพื่อนในกลุ่มเพิ่งเปลี่ยนเบอร์มาละก็แนะนำหมอดูเบอร์ให้ เราก็เลยดูเบอร์ และเปลี่ยนเบอร์กับหมอคนที่เพื่อนแนะนำค่ะ

การดูดวงเบอร์กับหมอที่เป็นมนุษย์ ต่างกับการเอาเบอร์เราไปใส่ในเว็บยังไงบ้างเหรอคะ? หมอดูเค้าจะอธิบายความหมายและสิ่งที่เป็นไปได้จากคู่ตัวเลข เอามาบวกๆ กับลักษณะชีวิต อาชีพ อายุของเราด้วยค่ะ ทำให้การพูดถึงคู่ตัวเลขบางคู่นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา และเรามองเห็นภาพชัดเจนเลยว่าชีวิตเราที่มีเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ขึ้น เป็นไปตามคู่ตัวเลขที่เขาบอกเลย ส่วนการดูผ่านเว็บ จะเป็นการรู้ถึงผลรวมๆ ของคู่เลขนั้นๆ

โดยที่เราได้ตัดสินใจจะเปลี่ยนเบอร์อยู่แล้วตั้งแต่แรก ก็เลยให้หมอเค้าหาเบอร์ให้ด้วย ซึ่งเค้าจะหาเลขที่เหมาะกับอาชีพ อายุ ของเราค่ะ เช่น งานของเราเป็นงานที่ต้องใช้วาทศิลป์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันก็จะมีคู่ตัวเลขที่สนับสนุนเรื่องพวกนี้อยู่ เรื่องของช่วงวัยก็เกี่ยวค่ะ เช่น คู่ตัวเลขที่สนับสนุนให้ชีวิตนิ่งๆ เรียบง่าย ก็อาจจะเหมาะกับคนมีอายุ มากกว่าคนหนุ่มสาว ที่ชีวิตยังต้องมีอะไรเข้ามามากกว่านี้อีกเยอะ เป็นต้นค่ะ

สิ่งที่อยากจะมาเล่าในวันนี้ จริงๆ แล้ว คือเรื่องของสิ่งที่ตามมาในการเปลี่ยนเบอร์ค่ะ นั่นคือ การแจ้งเปลี่ยนเบอร์กับหน่วยงานต่างๆ นั่นเอง

อันนี้เราจะเขียนเฉพาะที่เราได้ประสบมานะคะ

Continue reading

[Review] ขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อรับเงินทดแทน และสิ่งที่ต้องทำเมื่อลาออก

สวัสดีค่ะ ตอนนี้เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่นาน หลายๆ คนก็คงได้รับโบนัสไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังมองหางานใหม่อยู่ใช่มั้ยคะ

คนส่วนใหญ่คงจะหางานใหม่ให้ได้ก่อนแล้วถึงลาออก แต่ก็มีคนบางส่วนที่ออกจากงานแบบยังไม่มีที่ใหม่เช่นกันค่ะ ซึ่งนั่นทำให้เราเป็น “คนว่างงาน” แฮ่~ วันนี้เลยขอมาแนะนำขั้นตอนตั้งแต่จะลาออก ไปจนถึงตอนว่างงานค่ะ

สิ่งที่ต้องทำเมื่อ “จะ” ลาออก

  1. คุยกับหัวหน้างานโดยตรงเป็นการส่วนตัวให้เรียบร้อย ก่อนที่จะบอกคนอื่นในบริษัท ยกเว้นว่าคนนั้นเชื่อใจได้จริงๆ (ซึ่งไม่ควรจะไว้ใจใครในเรื่องเม้าท์มอยในออฟฟิศ และตอนที่เราคุยกัน แผนกข้างๆ อาจแอบฟังแล้วเอาไปเมาท์ต่อ ก่อนที่หัวหน้าเราจะทราบเรื่องก็ได้ ซึ่งนั่นมันไม่ดีเอาเลยค่ะ)
  2. แจ้ง HR เพื่อขอใบลาออก (ขั้นตอนนี้แต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียวค่ะ ลองปรึกษาแผนก HR ทีม Recruitment ดูนะคะ)
  3. ปกติแล้ว จะแจ้งบริษัทล่วงหน้า 30 วันค่ะ แต่สามารถตกลงกับบริษัทได้ว่าอาจจะสั้นกว่านั้น (ไม่มีกฎหมายบังคับนะคะ อย่างของเราก็แจ้งประมาณ 20 วัน)
  4. เรื่องที่ลืมไม่ได้คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เราสามารถ “คงเงิน” ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ค่ะ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเสียภาษีเงินส่วนนี้ย้อนหลัง ถ้าเราเลือกคงเงินไว้แล้ว เราต้องคงเงินไว้เป็นเวลา 90 วันขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนว่ามีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง) และมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 500 บาทต่อปีค่ะ
    • หากต้องการคงเงิน ให้บอก HR ว่าเราจะคงเงินต่อนะคะ HR เค้าจะได้ไม่แจ้งเราออกจากกองทุน (ขั้นตอนนี้แต่ละบริษัทไม่เหมือนกันค่ะ บางที่ HR จะแจ้งกองทุนให้ว่าเรา “คงเงิน” ต่อ หรือบางที่ก็ให้เราติดต่อเอง)
    • หากไม่ได้แจ้งอะไร HR เป็นพิเศษ เค้าจะทำเรื่องลาออกจากกองทุนให้เราค่ะ เมื่อลาออกแล้วเราก็จะได้รับเช็คกองทุนคืนมา
    • สำหรับใครที่ได้งานที่ใหม่แล้ว สามารถแจ้ง HR ว่าจะ “โอน” กองทุนฯ ไปยังของบริษัทใหม่ได้เช่นกันค่ะ
  5. วันสุดท้าย ส่งอีเมลแจ้งคนที่เราทำโปรเจกต์ด้วย หรือต้องคอนแทคด้วย (เช่น คนแผนกอื่น หรือ vendor หรือลูกค้า) ว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา สำหรับเรื่องที่เคยติดต่อกันไว้ ให้เขาสามารถติดต่อ (หัวหน้า หรือคนที่มาแทน) เราได้เลย

สิ่งที่ต้องทำ “หลัง” ลาออก

  • ทาง HR จะจัดทำเอกสารทวิ 50 เพื่อให้เราใช้ยื่นภาษีปลายปี บางที่ก็มีหนังสือรับรองการทำงานมาให้ด้วยค่ะ
  • ใครที่ไม่ได้แจ้งคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะได้รับเช็คกองทุนคืนมา
  • ใครที่ยังไม่ได้งานใหม่ –> ขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานของประกันสังคมค่ะ (ที่จ่าย 750 บาทมาทุกเดือนเนี่ยแหละะะะะะ เราจะได้คืนบ้างแล้ว)

การขึ้นทะเบียนว่างงาน

การขึ้นทะเบียนว่างงานและรับเงินทดแทนเนี่ย เราต้องทำภายใน 30 วันหลังออกจากงาน เพื่อที่จะได้รับเงินทดแทนนี้เต็มจำนวน 3 เดือนค่ะ (เท่าที่อ่านมา เค้าบอกว่าให้ไปช่วงวันที่ 15-20 หลังออกจากงานจะกำลังดี เพราะนายจ้างเราจะแจ้งการลาออกของเราเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งเราสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีค่ะ

วิธีแรก – ไปดำเนินการทุกอย่างด้วยตนเอง ที่ “สำนักงานจัดหางาน

วิธีที่สอง – ขึ้นทะเบียนว่างงานออนไลน์ แล้วไปยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนที่ “สำนักงานประกันสังคม

ขออธิบายวิธีแรกก่อนค่ะ คือการไปดำเนินการทุกอย่างที่สำนักงานจัดหางาน

ข้อดี – รวดเดียวจบ

ข้อเสีย – ใช้เวลาเยอะ, ต้องนั่งฟังเจ้าหน้าที่อธิบายการหางาน (เพราะเค้าเป็นสำนักงานจัดหางาน), ต้องกรอกแบบฟอร์มจัดหางาน อบรมเข้าทำงาน, เจ้าหน้าที่จะถามนั่นนี่นิดหน่อย, ต้องกรอกเอกสารที่นั่นหลายอย่าง

ขั้นตอนมีดังนี้ค่ะ

  1. บ้านอยู่ใกล้สำนักงานไหน ไปที่นั่นเลยค่ะ สำหรับในกรุงเทพ ดูได้จากลิงก์นี้ http://www.overseas.doe.go.th/bangkok.php เราไปที่เขตพื้นที่ 8 มา อยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลบางนา มีที่จอดรถเยอะค่ะ ก็สะดวกดีนะสำหรับคนมีรถ
  2. เอกสารที่ต้องเตรียมไป
    • บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาบัตรประชาชน (เตรียมไป 2-3 ฉบับนะคะ อะไรก็เกิดขึ้นได้)
    • รูปถ่าย 1 นิ้ว 1 รูป (ไม่เกิน 6 เดือน)
    • สำเนาหน้าบัญชีที่เราต้องการรับเงินทดแทน
    • จริงๆ แล้วทั้ง 3 รายการด้านบนก็เพียงพอแล้วค่ะ แต่ในเว็บไซต์ของประกันสังคมบอกว่า ให้เตรียม “หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09)” และ “หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน” ทั้งสองอย่างนี้เขียนว่า “ถ้ามี” ค่ะ ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร
  3. ไปถึงแล้วก็หาป้ายค่ะ ยื่นขึ้นทะเบียนว่างงาน หรือบางที่ก็คงมีบัตรคิว (แบบที่ธนาคาร) ก็เลือกให้ถูกประเภท แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งเองค่ะว่าต้องทำอะไรบ้าง มีแบบฟอร์มประกันสังคม แบบฟอร์มจัดหางาน ฯลฯ
  4. แบบฟอร์ม สปส.2-01/7 หรือแบบฟอร์มคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน ที่สำนักงานจัดหางานจะมีให้กรอกค่ะ ไม่ต้องเตรียมไป
  5. การรายงานตัว ต้องมารายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานทุกเดือนค่ะ ในเอกสารที่เจ้าหน้าที่ยื่นคืนมา จะมีวันที่เราต้องไปรายงานตัวกำหนดอยู่แล้ว (บวกลบได้ 7 วัน สำนักงานเขตใดก็ได้) แต่ไม่แน่ใจว่าหากขึ้นทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานแล้ว จะสามารถรายงานตัวออนไลน์ได้หรือไม่ค่ะ

สำหรับวิธีที่สอง การขึ้นทะเบียนแบบออนไลน์

ขั้นตอนมีดังนี้ค่ะ

  1. ลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ http://empui.doe.go.th/auth/index คลิก “ลงทะเบียน”
  2. กด “ยอมรับและเข้าใช้งาน” และ “ขั้นตอนต่อไป” โดยในขั้นตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าเอกสารที่เค้าบอกให้เอาไปสำนักงานประกันสังคมมีแค่ 3 อย่างเท่านั้น (ซึ่งจริงๆ มี 4 อย่าง)
  3. กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชนของเรา
  4. กรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตรงสำหรับติดบัตร ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล วันเกิด ฯลฯ เมื่อกรอกเรียบร้อยแล้วจะมีป๊อปอัพขึ้นมาถาม ให้คลิก “ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน”
  5. กรอกข้อมูลการศึกษา อาชีพ จังหวัด ข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ
  6. เมื่อกรอกเรียบร้อยแล้ว จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมา ว่าต้องใช้เอกสาร 3 อย่างนี้ (ซึ่งจริงๆ มี 4 อย่าง!)
  7. เมื่อกดปิดป๊อปอัพแล้ว เราจะเห็นเอกสาร หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนของเรา

    หน้าตาเป็นแบบนี้เลยค่ะ มีรูปที่เราอัพโหลดขึ้นไปด้วย (ไม่ต้องใช้รูปจริงอีกครั้งตอนยื่นเอกสาร)
  8. จากนั้นให้คลิกไปที่แท็บ “งานแนะนำ” แล้วกดดาวน์โหลดเอกสาร
  9. ขั้นตอนต่อไป ให้เตรียมเอกสารดังนี้ ทั้งหมด 4 รายการ
    • สำเนาบัตรประชาชน 1 ใบ (เตรียมเผื่อๆ ไปอีกได้นะคะ)
    • หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน (จากข้อ 7.) พิมพ์ออกมา 1 ชุดค่ะ **เอกสารชุดนี้ไม่มีจุดไหน ในเว็บไซต์ใดๆ แจ้งบอกเลยว่าให้เอาไปที่สำนักงานประกันสังคมด้วยค่ะ แม้กระทั่งตอนโทรไปถามที่สำนักงานประกันสังคมเองก็เหมือนกัน** 
    • แบบฟอร์มคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (จากข้อ 8.) พิมพ์ออกมาแล้วกรอกให้เรียบร้อย
    • สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร
  10. ไปที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านค่ะ ที่ไหนก็ได้ ดูได้จากลิงก์นี้เลยค่ะ  http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?lang=th&cat=860 ของเรา เราไปที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 มาค่ะ อยู่เลยจากพาราไดซ์ปาร์คไปนิดเดียว (ระวังเลยนะคะ ไม่มีป้ายบอกอะไรเลย ต้องขับชะลอมากๆ) ที่จอดรถน้อยมากกกกกกค่ะ วนนานมากกว่าจะได้ที่จอด แนะนำให้ไปจอดพาราไดซ์ปาร์คแล้วเดินหรือนั่งวินมานะคะ เพราะวันธรรมดาพาราไดซ์คนน้อยอยู่แล้ว
    อย่าลืม! – ไปวันเวลาราชการนะคะ น่าจะ 8:00-15:00 (ไม่แน่ใจ) ระวังติดพักเที่ยง ค่ะ (12:00-13:00) ถ้าไปโดนตอนพักเที่ยงจะหงุดหงิดมากๆ
  11. กดบัตรคิวตรงหัวข้อ “ว่างงาน”
  12. เรากดบัตรคิวปุ๊บ โดนเรียกทันทีค่ะ ยื่นเอกสารทั้งหมด 4 รายการขั้นต้น แล้วจบเลยค่ะ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้พูดอะไรมากมายค่ะ แค่บอกให้รายงานตัวในระบบตามกำหนด
  13. จบค่ะ กลับบ้าน

รายละเอียดเพิ่มเติมนะคะ

  • กรณีลาออกเอง จะรับเงินชดเชยได้ 3 เดือน เป็นจำนวน 30% ของรายได้ค่ะ (รายได้ที่นำมาคำนวณสูงสุด 15,000 บาท) เท่ากับว่าหากเรามีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท เราจะได้เงินชดเชยอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท
  • กรณีถูกให้ออกแบบไม่มีความผิด จะรับเงินชดเชยได้ 6 เดือน เป็นจำนวน 50% ของรายได้ที่ไม่เกิน 15,000 บาทค่ะ เท่ากับว่าเราจะได้สูงสุด 7,500 บาทต่อเดือน
  • เงื่อนไขอื่นๆ ดูในเว็บประกันสังคมได้นะคะ แต่ก็ไม่ค่อยมีอะไรพิเศษมากมายค่ะ ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ลาออก http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=874
  • เงินชดเชยจะโอนเข้าบัญชีหลังยื่นเอกสาร 7 วัน (เจ้าหน้าที่บอกมา) ที่เหลือก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ค่ะ
  • ระหว่างว่างงานเราสามารถขึ้นทะเบียนประกันตนเองได้นะคะ เผื่อใช้รักษายามเจ็บป่วย (เหรอ?) หรือทำให้การเก็บสะสมเงินกรณีชราภาพในกองทุนประกันสังคมได้ต่อเนื่องค่ะ โดยเราต้องสมัครภายใน 6 เดือนหลังจากลาออกค่ะ รายละเอียด http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=875
  • หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมล็อกอินระบบเข้าไปรายงานตัวตามวันที่กำหนดด้วยนะคะ ตั้งเตือนไว้ล่วงหน้าเลยจ้า

อันนี้เราพิมพ์ข้อมูลเท่าที่ทราบและมีประสบการณ์ตรงนะคะ ใครมีอะไรแตกต่างหรือเพิ่มเติม คอมเมนต์ได้เลยค่ะ

และอย่างน้อยช่วงที่เรารองานใหม่นี้เราก็ได้เงินชดเชยมาเดือนละ 5,000 แน่ะค่ะ ช่วยได้เยอะเลย อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนกันนะคะ~~

วิธีแก้ไขเมื่อเสื้อผ้าเป็นขุยด้วย “Lint Remover เครื่องตัดขุยด้าย”

เราเป็นคนหนึ่งที่เสื้อกับกางเกงฝั่งขวาจะขึ้นขุยง่ายมาก หงุดหงิดมาก และต้องซื้อกางเกงทำงานใหม่บ่อยมาก เลยเลือกที่จะซื้อตัวราคา <1,000 บาท เพราะไม่ว่าจะถูกหรือแพงกว่า 1,000 บาท กางเกงก็ขึ้นขุยหมด

ขุยเกิดจากเราสะพายกระเป๋าที่ฝั่งขวา เวลาเราเดิน กระเป๋าก็จะเสียดสีกับลำตัวฝั่งขวาของเราบริเวณเอว และบริเวณบั้นท้ายค่ะ เสื้อหลายตัว กางเกงหลายตัว ที่ยังดีๆ อยู่ แต่มีขุยขึ้น เราก็เลือกที่จะไม่ใส่ เพราะมันดูไม่ค่อยดี

วันนี้เราได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาแล้ว หลังจากที่ทั้งคอยดึงขุยออกด้วยมือ(ตอนที่ยังขึ้นขุยไม่เยอะ) หรือเอากรรไกรเล็กๆ มาพยายามเล็มๆ

อุปกรณ์ที่มาช่วยประหยัดค่าเสื้อผ้าใหม่(แค่ส่วนนึง)ของเราก็คือ “Lint Remover” หรือ เครื่องตัดขุยด้ายนั่นเองค่ะ

Lint Remover และขุยด้ายที่ตัดออกมาแล้วอยู่ในกลัก

Lint Remover และขุยด้ายที่ตัดออกมาแล้วอยู่ในกลัก

ตัวอย่างของเสื้อที่มีปัญหาค่ะ เราใช้กระเป๋าผ้าสีดำ เสื้อตัวนี้ขุยเลยเป็นสีดำเลย ใส่วันเดียวเอง

สภาพเยินมาก

วิธีใช้งานเจ้าเครื่องนี้ ก่อนอื่น เราปูเสื้อกับพื้นแนวราบ (โต๊ะ/เตียง) ใส่ถ่าน AA 2 ก้อนในเครื่อง แล้วผลักสวิทช์ไปที่ ON เครื่องก็จะทำงานเหมือนเครื่องโกนหนวดของผู้ชายเลยค่ะ เราก็เอาเครื่องตรงฝั่งใบมีดลงไปถูๆ บริเวณที่มีขุย แค่นี้ก็เรียบร้อย

ขุยหายหมดเลย น้ำตาจะไหล โชคดีที่ยังไม่บริจาคไป

ขุยหายหมดเลย น้ำตาจะไหล โชคดีที่ยังไม่บริจาคไป

จริงๆ แล้วเครื่องนี่ตัดขุยออกได้เกือบ 100% แต่ยังไงก็เหลือตอของขุยอยู่ดี ต่อให้กดเครื่องหนักๆ ยังไง มันก็ยังมีตอขุยด้ายอยู่ ทำให้เสื้อไม่ได้ดูวิ้งเหมือนใหม่ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ดูเก่าเหมือนก่อนใช้เครื่องค่ะ

เสื้อตัวถัดมา เป็นตัวที่เราใส่เข้าออฟฟิศวันแรก ได้สายคล้องคอบัตรพนักงานใหม่ สายมันคงแข็ง เลยทำเสื้อเป็นรอยขุยเป็นรูปตัว V เลยทีเดียว

จริงๆ กางเกงใส่ไปทำงานสีดำของเรานี่ขุยขึ้นเกือบทุกตัว แต่ถ่ายรูปออกมาไม่เห็นเลยไม่ได้เอามาถ่ายรูปรีวิวค่ะ

เครื่องตัดขุยด้าย หาซื้อได้ที่ Daiso ราคา 60 บาท ไม่รวมถ่านค่ะ หรือซื้อออนไลน์ได้ที่ http://www.daisoeshop.com/ พิมพ์คำว่า “ขุยด้าย” ลงไปที่ช่องเสิร์ช

ก็มีขึ้นมา 3 ตัวเลือก แต่จริงๆ แล้วเหมือนกันหมดค่ะ น่าจะเป็นล็อตที่ผลิตออกมาคนละล็อตมากกว่า

ลองไปหาซื้อมาเล่นดูนะคะ แล้วเสื้อผ้าที่ดูเก่า จะกลับมาสดใสเกือบเหมือนเดิม ^_^