Monthly Archives: November 2016

แนะนำ/เปรียบเทียบการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อไปญี่ปุ่น/สิงคโปร์ ระหว่าง Sim2Fly กับซิมท้องถิ่น

หลายๆ คนคงมีคำถามในใจเรื่องการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อไปเที่ยวต่างประเทศค่ะ ออปชั่นหลักๆ คงจะมีดังนี้

  1. เปิดแพ็คเกจโรมมิ่งของเครือข่ายที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน
  2. ซื้อซิมสำหรับใช้ดาต้าโรมมิ่งโดยเฉพาะ ในตลาดตอนนี้ที่รู้จักและใช้งานง่ายมีแค่ AIS Sim2Fly ค่ะ
  3. ซื้อซิมของเครือข่ายโทรศัพท์ท้องถิ่นนั้นๆ
  4. อื่นๆ (ไม่แน่ใจ)

ในฐานะที่เราก็เดินทางไปหลายประเทศในหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เราจะซื้อซิมท้องถิ่นที่สนามบินตอนที่เราบินไปถึงทันทีค่ะ บางประเทศก็มีความยุ่งยากในการซื้อซิม บางประเทศก็ง่ายแสนง่าย แต่สองทริปล่าสุดเราได้ใช้ AIS Sim2Fly แล้วค่อนข้างถูกและง่าย วันนี้เลยขอลงรายละเอียดของแต่ละข้อไปนะคะ

ออปชั่น 1 – การเปิดแพ็คเกจโรมมิ่งของเครือข่ายที่ใช้งานปัจจุบัน

อันนี้ไม่สามารถพูดถึงได้มากเท่าไหร่ เพราะไม่มีประสบการณ์ในการใช้ค่ะ ขอเขียนตามความเข้าใจดังนี้ค่ะ

ข้อดี – ใช้เบอร์โทรศัพท์เดิม สะดวก ไม่ต้องตั้งค่าอะไรมากมาย สามารถรับสายโทรเข้าออกได้จากเบอร์ไทย

ข้อเสีย – แพง และมีโอกาสหลุดแพ็คเกจได้ง่าย เช่น สายโทรศัพท์เข้าเยอะกว่าที่คิด หรือใช้เน็ตมากกว่าที่คิด (หลายๆ ผู้ให้บริการมักตัดเน็ตอัตโนมัติหากใช้ครบแพ็คเกจ แต่ก็เสียวอยู่ดี)

สรุป – ออปชั่นนี้จะเหมาะกับผู้มีความจำเป็นต้องติดต่อกิจธุระที่เมืองไทยบ่อยๆ ระหว่างอยู่ต่างประเทศ และมีบัดเจ็ตก้อนใหญ่สำหรับรองรับเรื่องนี้ค่ะ ควรเลือกรายละเอียดแพ็คเกจการให้บริการของเครือข่ายที่ตัวเองใช้งานอยู่ให้เหมาะสมค่ะ ทั้งระยะเวลา ปริมาณการโทรเข้าออก และปริมาณอินเตอร์เน็ตที่ต้องการใช้

ออปชั่น 2 – ซื้อซิมสำหรับใช้ดาต้าโรมมิ่งโดยเฉพาะ

บอกเลยว่าอันนี้ไม่ได้รับเงิน AIS มาแน่นอน แต่เห็นกระทู้พันทิปเยอะแยะมากมายว่าซื้อไปแล้วใช้ไม่ได้ ส่วนตัวเราเองใช้มา 2 ทริปแล้วค่ะด้วยซิมเดิม ค่อนข้างถูกใจเจ้มาก เพราะสะดวก และราคาไม่แพงค่ะ

ปัจจุบัน (24/11/2016) หากซื้อซิมใหม่ จะมีให้เลือก 4 แบบดังรูปด้านล่างค่ะ

เริ่มจากด้านซ้ายนะคะ

  1. แพ็คเกจ 899 สำหรับใช้อินเตอร์เน็ตได้ในยุโรปและอเมริกาค่ะ ใช้เน็ตได้ 3GB นาน 15 วัน
  2. แพ็คเกจ 399 สำหรับใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชีย 11 ประเทศ (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงค์โปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย ลาว มาเก๊า ฟิลิปปินส์และกัมพูชา) เป็นแพ็คเกจยอดฮิตและโคตรเหมาะกับการไปเที่ยว ใช้เน็ตได้ 3GB แต่เสียดายที่ใช้ได้แค่ 8 วัน
  3. แพ็คเกจ 199 ใช้ได้ใน 50 กว่าประเทศทั่วโลก ได้เน็ต 20MB อายุการใช้งาน 30 วัน แต่มียอดเงินให้ใช้โทรเข้ารับสายอยู่ 100 บาท
  4. แพ็คเกจ 50 บาท ใช้ได้ใน 50 กว่าประเทศทั่วโลก อายุการใช้งาน 30 วัน มียอดโทรให้ 15 บาท (เหมือนซิมเปล่านั่นเอง)

สรุปคือเบอร์ 1 และเบอร์ 2 เหมาะสำหรับผู้ที่จะไปใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ส่วนเบอร์ 3 และ 4 จะเหมาะกับคนที่ต้องการโทรออกรับสายซะมากกว่าค่ะ

สำหรับประชาชนชาวดิจิทัลอย่างพวกเรา แน่นอนค่ะ แพ็คเกจ 399 คือตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณค่ะ

ขั้นตอนการใช้งานมีดังนี้

  1. แนะนำให้ดาวน์โหลดแอป AIS eService ติดเครื่องไว้ก่อนเลยค่ะ สำหรับใช้เติมเงิน เช็คยอดคงเหลือ และซื้อแพ็คเกจเสริม
  2. หากซื้อออนไลน์ เมื่อได้รับซิมแล้ว ให้เอาซิมพร้อมบัตรประชาชนไปลงทะเบียนที่ AIS Shop หรือ Telewiz เสียก่อนนะคะ ไม่งั้นจะใช้งานไม่ได้ (ซิมเติมเงินทุกซิม ปัจจุบันต้องลงทะเบียนตัวตนก่อนค่ะ)
  3. หากอยากซื้อที่ AIS Shop เมื่อซื้อแล้วก็ลงทะเบียนตัวตนอย่างเดียว แต่อย่าเพิ่งทดลองใช้ซิมค่ะ (เพราะซิม 899 และ 399 หาก Activate Sim จะเท่ากับเริ่มใช้แพ็คเกจทันที) หรือหากสะดวกในวันเดินทาง ให้ไปซื้อที่ช็อปที่สนามบินเลยก็ได้ค่ะ ที่ช็อปก็จะลงทะเบียนตัวตน พร้อมเปิดใช้งานแพ็คเกจให้เลย
  4. ระหว่างอยู่บนเครื่อง สลับซิม Sim2Fly มาใส่เครื่อง พอเครื่องแลนด์ดิ้งปุ๊บ ก็ปิด Airplane Mode แล้วรอ SMS คอนเฟิร์มแพ็คเกจเข้า ก็สามารถใช้งานได้เลยค่ะ *อย่าลืม* เปิดการตั้งค่า Cellular Data และ Data Roaming ด้วยนะคะ
  5. ตอนที่ใส่ซิม Sim2Fly แล้วเปิดใช้งาน ใน iOS จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมาให้ Update Carrier Setting อะไรสักอย่างค่ะ ก็กดอัปเดตไป เหมือนมันเป็นการตั้งค่ากับเครือข่ายที่ประเทศที่เราใช้งานน่ะค่ะ
  6. อื่นๆ ก็เป็นการตั้งค่า Profile หรือ APN ใน Android อันนี้ต้องพึ่งความสามารถส่วนตัวแล้วค่ะหากมีปัญหา แต่โดยเบสิคแล้วเราไม่น่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมนะคะ ยกเว้นว่าเคยลง Profile (ใน iPhone) การตั้งค่าอินเตอร์เน็ตของยี่ห้ออื่นอะไรไว้ ถ้าแนะนำก็ควรลบ Profile อันเก่าๆ ออกให้หมดค่ะเพื่อความชัวร์ ถ้าเป็น Android ก็ให้ลบ APN เก่าๆ ที่เคยลงไว้ค่ะ เพื่อไม่ให้รบกวนการตั้งค่าอินเตอร์เน็ตของ Sim2Fly ค่ะ

หมายเหตุ – Partner Operator ที่ญี่ปุ่นจะเป็น Softbank นะคะ (โทรศัพท์จะจับสัญญาณของ Softbank ให้โดยอัตโนมัติค่ะ) ส่วนที่สิงคโปร์จะเป็น Singtel ค่ะ

ปัญหาที่พบ

หากเที่ยวอยู่ ยังไม่ครบ 8 วัน แต่เน็ตหมด 3GB แล้วทำยังไง?

  • ซื้อแพ็คเกจเสริมค่ะ 349 บาท เติมเงินผ่านแอป AIS eService (ตัดบัตรเครดิต) และกดซื้อแพ็คเกจเสริมในแอปได้เลยค่ะ การเข้าใช้งานแอปนี้ต้องล็อกอินผ่านรหัส OTP ที่จะได้รับทาง SMS ด้วยนะคะ

หากเที่ยวเกิน 8 วันทำยังไง?

  • ซื้อแพ็คเกจเสริมอีก 349 บาทเช่นกันค่ะ แต่ต้องลองคำนวณดูนะคะว่าคุ้มค่าหรือเปล่า หากเที่ยวแค่ 9 วัน อาจต้องลองชั่งใจดูว่าวันแรกหรือวันสุดท้ายจะไม่มีเน็ตใช้ อาจจะคุ้มกว่านะคะ

ช็อปที่สนามบิน ซิม 399 หมดทำอย่างไรดี?

  • เพราะว่าซิม 399 เป็นแพ็คเกจยอดฮิต ตอนเราไปซื้อที่ดอนเมืองซิม 399 ก็หมดเหมือนกันค่ะ ที่ช็อปแนะนำว่า จะซื้อเป็นซิมรุ่น 50 บาทให้ แล้วเติมเงิน 350 เพื่อกดสมัครแพ็คเกจเสริม 349 ซึ่งเป็นแพ็คเกจเดียวกับรุ่นซิม 399 ค่ะ -> ผลลัพธ์คือใช้งานได้เหมือนกันนะคะ

อยากรับสายเบอร์เดิมด้วยทำยังไง?

  • ก่อนออกจากเมืองไทย ตั้งค่า Call Divert จากซิมเบอร์ปกติที่ใช้ที่ไทย เข้าเบอร์ Sim2Fly เลยค่ะ เราจะเสียเงินค่า Divert เท่ากับค่าโทรออกในแพ็คเกจปกติที่เราใช้อยู่ค่ะ (และเสียค่ารับสายบน Sim2Fly แยกต่างหากนะคะ)

โทรเข้าหรือรับสาย เสียค่าบริการอย่างไร?

  • แล้วแต่ประเทศที่ไปค่ะ อย่างญี่ปุ่น กดโทรกลับไทยอยู่ที่นาทีละ 6 บาท รับสายก็ 6 บาทเช่นกันค่ะ (ส่วนรับ SMS นั้น ปกติไม่เสียเงินอยู่แล้วค่ะ แม้จะไม่ใช่ Sim2Fly ก็ตาม)
  • หากมีแนวโน้มว่าจะโทรออกหรือต้องรับสายจากไทยแล้วล่ะก็ เติมเงินไปเผื่อได้เลยค่ะ

เก็บซิมไว้ใช้ทริปต่อไปได้หรือไม่?

  • ได้แน่นอนค่ะ แบบเราเนี่ยแหละ 555 แต่ต้องระวังวันหมดอายุนะคะ เติมเงินใส่ไว้ก่อนก็ได้เพื่อให้ได้วันการใช้งานซิมมาค่ะ แล้วพอเราจะเดินทางค่อยกดสมัครแพ็คเกจ 349
  • สามารถเช็ควันหมดอายุซิมได้จากแอป AIS eService ค่ะ

ถ้าซิมใช้ไม่ได้จ้ะทำยังไง?

  • อย่างที่บอกไปในข้อ 6 ข้างบนเลย ถ้าเป็น iPhone ให้ลบ Profile ที่เคยติดตั้งไว้ทั้งหมด (เข้าไปที่ Settings > General > Profile) ถ้าเป็น Android ก็ให้ลบ APN ที่เคยลงไว้ทั้งหมดเหมือนกันค่ะ ตรงนี้จะเป็นการเคลียร์การตั้งค่าที่เคยทำมาอดีตค่ะ ถ้าลบแล้วยังไม่ได้ อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำยังไงต่อ -__-

  • วิธีการลบใน iPhone ก็ตามรูปข้างต้นเลยค่ะ ถ้าใครทราบ Profile ในตัวอย่างของเราคือ Crashlytics ซึ่งไม่เกี่ยวกับการตั้งค่าอินเตอร์เน็ตใดๆ ค่ะ แต่ถ้าใครไม่แน่ใจว่า Profile ที่มีติดตั้งในเครื่องของเราคืออะไรบ้าง ก็ลบไปให้หมดเลยค่ะ กลับไทยมา ถ้ามันจำเป็นต้องใช้ เดี๋ยวก็สามารถดาวน์โหลดใหม่ได้เองค่ะ
  • Profile หรือ APN ส่วนมากที่เครื่องเราติดตั้งไว้ มักจะเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต เช่น เคยใช้ซิมญี่ปุ่น เวลาใช้ซิมญี่ปุ่น ก็จะมีให้ดาวน์โหลดหรือติดตั้ง APN เพื่อให้ใช้งานเน็ตได้ หรืออย่างเช่น การเชื่อมต่อ Wi-Fi อัตโนมัติของเครือข่ายที่เราใช้งานอยู่พวก dtac AIS บางทีก็จะมีให้ติดตั้ง Profile หรือ APN เช่นกันค่ะ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อการตั้งค่าเน็ตของ Sim2Fly แน่นอน ให้ลบออกไปก่อนเล้ยยย

สรุป – ตอนนี้ Sim2Fly เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในใจมากเลยค่ะ หากไปทริปไม่เกิน 8 วันสำหรับเรา

ออปชั่น 3 – ซื้อซิมของเครือข่ายโทรศัพท์ท้องถิ่นนั้นๆ

สองปีที่ผ่านมา เราไปญี่ปุ่นมา 6 รอบ โดย 5 รอบแรกนั้นซื้อซิมใหม่ที่ญี่ปุ่นทุกรอบ 555 มีแค่รอบสุดท้ายที่ทดลองใช้ AIS Sim2Fly แล้วติดใจค่ะ

ญี่ปุ่น

เราไม่ค่อยชอบการใช้ Pocket Wifi เท่าไหร่เพราะต้องพกเครื่องเพิ่ม แล้วยังต้องคอยชาร์จแบตเพิ่มอีก เราเลยมักจะซื้อซิมใหม่ไปเลยค่ะ หนึ่งซิมหนึ่งคนไปเลย จะได้สะดวกในการแยกกันเดินด้วย จริงๆ แล้วซิมญี่ปุ่นเราเคยใช้แบบที่ซื้อจากไทยไป เช่น Samurai และ อื่นๆ แต่ซิมพวกนั้น มักจำกัดปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันอยู่ที่ 200MB ซึ่งสำหรับเรามันไม่พอค่ะ เราเลยเลือกที่จะไปซื้อแพ็คเกจซิมที่สนามบินในญี่ปุ่นแทน โดยยี่ห้อที่เราใช้เป็นประจำคือยี่ห้อ Wi-Ho ค่ะ สามารถซื้อได้ที่บูธขายซิม/เช่าพ็อคเก็ต Wi-Fi ที่สนามบินได้เลย (มีทั้งฮาเนดะ นาริตะ คันไซ ฯลฯ) รายละเอียด https://sim.telecomsquare.co.jp/ และเราเองเคยรีวิวการซื้อซิม Wi-Ho ที่ญี่ปุ่นของเราไว้ในส่วนหนึ่งของโพสต์นี้นะคะ http://katoonix.com/2016/05/23/review-fukuoka-nagasaki-1/

แพ็คเกจปัจจุบัน (ณ 24/11/2016) ของ Wi-Ho จะมีแบ่งเป็น 2 แพ็คเกจคือ

  1. 1.5GB ใช้ได้ 7 วัน ราคา 1,500 เยน
  2. 3GB ใช้ได้ 30 วัน ราคา 3,500 เยน

ซึ่งสมมติว่าเราซื้อซิมแพ็คเกจแรก แล้วเราจะใช้เน็ตหมด หรือว่าเราอยู่เกิน 7 วัน ก็สามารถล็อกอินผ่านเว็บของเค้า เพื่อเข้าไปเติมแพ็คเกจผ่านบัตรเครดิตได้ค่ะ โดยราคาอยู่ที่ 1GB 1,980 เยน ทำให้เรามองว่า หากไปเที่ยวเกิน 7 วัน (แหงๆ) ซื้อแพ็ค 3GB 30 วัน 3,500 เยนไปเลยค่ะ คุ้มกว่า

ข้อดี – เหมาะกับคนที่ไปเที่ยวเกิน 7 วัน ใช้งานได้แน่นอน เพราะซื้อซิมเสร็จก็เปลี่ยนซิม ตั้งค่ากันตรงหน้าร้านนั่นแหละ (ของ Wi-Ho ต้องดาวน์โหลด Profile การตั้งค่าของเค้ามาด้วยนะคะ รายละเอียดมีในใบแนบตอนซื้อซิมเรียบร้อยค่ะ ทำไม่ยาก) ไม่ต้องนอยด์เหมือน Sim2Fly ว่าเราจะแจ็คพ็อตใช้ไม่ได้เหมือนเพื่อนๆ ในพันทิปหรือไม่ (สำหรับคนที่ใช้ Sim2Fly ไม่ได้แล้วตั้งกระทู้ในพันทิปนี่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมเค้าใช้ไม่ได้ค่ะ อาจอยู่ที่การตั้งค่า Profile ที่ถูกเซ็ตไว้ก่อนใช้ Sim2Fly หรืออาจไม่ได้ลงทะเบียนตัวตนก็ได้นะคะ)

ข้อเสีย – ราคาสูงกว่า Sim2Fly แต่ได้ระยะการใช้งานที่ยาวกว่า และใช้ได้แต่อินเตอร์เน็ตค่ะ โทรเข้าออกไม่ได้ (หากเป็นซิมที่มีเน็ต+โทรเข้าออกได้ ราคาแพงกว่านี้อีกม๊ากกกกก)

สิงคโปร์

ล่าสุดเพิ่งไปสิงคโปร์มาค่ะ เจอแพ็คเกจซิมยั่วยวนอยู่ที่ชั้น Arrival เลย เป็นของยี่ห้อ M1 (เดิมทีเราไม่รู้จัก เคยรู้จักแต่ Starhub กับ Singtel) แต่ๆๆๆ ค่ะ แพ็คเกจมันคือ 1GB $30 (750 บาท) แถมฟรี 100GB ใช้ได้ 7 วัน เอออออะ แถมเยอะไปมั้ยคะพี่ ดูรายละเอียดในเว็บไซต์

ไม่รอช้าค่ะ พุ่งตัวไปซื้อทันที (ซื้อให้เพื่อนค่ะ เนื่องจากเพื่อนยังไม่มีซิม อิ_อิ จะได้ไม่ต้องแชร์ HotSpot ไงเนอะ เผื่อแยกกันเดินด้วย)

ซึ่งในตัว $30 นี้ มียอดเงินให้โทรกลับประเทศได้ด้วย 15 เหรียญค่ะ อัตราค่าโทรเท่าไหร่ไม่รู้เหมือนกัน เรามีเหตุจำเป็นต้องโทรกลับไทย ก็โทรได้เกิน 10 นาทีอยู่เหมือนกันค่ะ

จริงๆ แล้วแพ็คเกจ $30 นี้เป็น Tourist Sim แต่แอบดูในเว็บไซต์นาง Prepaid Data Sim 1GB ราคาแค่ $18 เองค่ะ แต่คิดว่าบูธที่สนามบินอาจจะไม่มีขาย – -*


หวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังหาข้อมูลก่อนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศนะคะ ลองพิจารณาดูว่าแบบไหนเหมาะกับระยะเวลา และลักษณะการใช้งานของเราค่ะ ตอนนี้อะไรต่างๆ ก็ค่อนข้างง่ายค่ะ หากซื้อซิมไม่ทัน หรือซื้อไปแล้วใช้ไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ไปซื้อใหม่ที่สนามบินปลายทางได้เลยค่ะ อาจแพงหน่อยแต่ชัวร์กว่าค่ะ ยังไงก็ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยและเที่ยวให้สนุกนะคะ 🙂