เป็นผู้โดยสาร จะช่วยอย่างไรให้ไฟลท์ไม่ดีเลย์ 😀
วันนี้ขอเขียนภาษาบล็อกภาษาไทยละกัน ภาษาอังกฤษคงจะยากไปสำหรับเรา 🙂
แต่อีกใจนึงคิดว่า ว่างๆ จะมาลองนั่งเรียบเรียงดูเหมือนกัน รู้สึกภาษาอังกฤษตัวเองง่อยมาก ณ จุดนี้
เริ่มจากว่า ตอนนี้กำลังเข้าเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันหยุดพักผ่อน และการเดินทาง
หลายๆ คน ก็คงมีโปรแกรมพักผ่อนต่างๆ กันไป อาจจะเป็นในประเทศ ไปเล่นสงกรานต์ที่เชียงใหม่
หรือบางคนก็หนีร้อนไปพึ่งเย็นทางแถบทวีปอื่นเลยก็มี
และทุกๆ คน ก็คงอยากจะเดินทางได้ตามกำหนดการที่วางเอาไว้ แต่ทว่า อะไรๆ มักไม่เป็นดั่งใจคิด
สิ่งหนึ่งที่เจอบ่อยๆ ก็คือไฟลท์บินดีเลย์นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่า พวกเรา – ผู้โดยสาร จะช่วยให้ไฟลท์ไม่ดีเลย์ได้อย่างไรบ้าง
สาเหตุที่ทำให้ไฟลท์ดีเลย์คร่าวๆ (ตามที่คิดเองและเข้าใจนะ)
๑. สภาพอากาศ – เรื่องนี้ช่วยไม่ได้จริงๆ คงต้องขอฟ้าขอฝนให้ช่วยสนับสนุนการเดินทางของเรา ^^” สิ่งที่เกิดขึ้นมีสามแบบ คือ เครื่องออกช้า (รอให้สนามบินปลายทางแจ้งมาว่าอากาศดีขึ้น พร้อมให้เครื่องบินลงได้) หรือ เครื่องบินออกไปแล้ว และต้องบินวนไปวนมา รอให้อากาศดีขึ้น (ซึ่งแบบนี้จะเสี่ยงต่อการน้ำมันหมดได้ เพราะฉะนั้นแบบแรกดีกว่าเยอะ) และสุดท้ายคือ ต้องบินกลับสนามบินต้นทาง (อันนี้แย่เลยจริงๆ 😦 อดไปเลยอะ)
๒. เครื่องไม่พร้อม – บางทีมีอะไรบางอย่างเสีย หรือเตรียมไม่พร้อม หรือขาดอุปกรณ์บางชิ้น ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของสายการบินค่า m(_ _)m แต่ก็อย่างว่านะคะ เพื่อความปลอดภัยจริงๆ ถ้าเครื่องไม่พร้อม เราก็ไม่ควรออกเดินทาง เหมือนกับรถหม้อน้ำแห้ง หรือน้ำมันเบรกพร่อง ใช่ไหมล่ะคะ?
๓. เอกสารไม่พร้อม – ตรงนี้ปลายทางบางแห่งมีข้อกำหนดเคร่งครัดเหลือเกิน ยกตัวอย่างเช่น เมืองแถบประเทศจีน หรืออินเดียค่ะ ความรับผิดชอบตกเป็นของสายการบิน อีกเช่นกัน
๔. โหลดกระเป๋าไม่เสร็จทั้งๆ ที่ผู้โดยสารขึ้นเครื่องเสร็จแล้ว – บางทีกระเป๋าโหลดเยอะเวอร์ค่ะ ตัวอย่างเช่น เวลากลับจากย่างกุ้ง (Rangoon) จะมีคนซื้อปูต้ม ปูผัดผงกะหรี่ มาเยอะมาก มาก มาก ทำให้เสียเวลาสุดๆ ค่ะ
๕. ผู้โดยสาร – ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไฟลท์ดีเลย์จะเกิดจากผู้โดยสารนี่แหละค่า เพราะฉะนั้นเรามาดูวิธีปฏิบัติตัวของผู้โดยสารที่ดีกัน (Based on AirAsia Procedure)
- Checking-in ผู้โดยสารควรไปเช็คอินตามเวลาที่กำหนดนะคะ เช่น แอร์เอเชีย ให้ผู้โดยสารเช็คอินก่อน 45 นาที ก่อน Departure Time ค่ะ
- Boarding ผู้โดยสารควรไปถึงประตูทางออก ก่อน เวลา Boarding Time ค่ะ ย้ำ ก่อน นะคะ ไม่ใช่หลังจากนั้น เพราะ Boarding Time หมายถึงเปิดให้ขึ้นเครื่องได้ เราก็ควรไปรอใช่ไหมคะ? อย่ามัวแต่เลือกซื้อของใน Duty Free เพลินนะคะ และกัปตันบางท่านก็ไม่ชอบรอผู้โดยสารค่ะ และเมื่อไปถึงประตูแล้วก็เตรียมบอร์ดดิ้งพาสและบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตไว้กับตัวให้พร้อม
- Carry-on Bag กรุณาทำตามที่สายการบินกำหนดนะคะ น้ำหนักไม่เกิน 7kg และขนาดตามที่กำหนด เพราะถ้าใหญ่เกินไป ก็จะเก็บในที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะไม่ได้ ทำให้ต้องเอากระเป๋าไปโหลดลงใต้เครื่องอยู่ดี – -” เสียเวลาสองเท่าค่ะ
- เตรียมสรรพสิ่งส่วนตัว ก่อนขึ้นเครื่องให้จัดลำดับความคิดตัวเองให้ดี ว่าจะเอาอะไรติดตัวไว้บ้าง (พาสปอร์ต, บอร์ดดิ้งพาส, กระเป๋าเงิน, มือถือ, ยา, หนังสืออ่านเล่น, ฯลฯ) แล้วให้แยกไว้ที่ตัวเลย พอขึ้นเครื่องจะได้เก็บกระเป๋าครั้งเดียวแล้วนั่งรัดเข็มขัดเรียบร้อย ไม่ต้องเวิ่นเว้อ ลุกขึ้นไปหยิบนู่นหยิบนี่ จะทำให้รถติดนะคะ
- ทราบที่นั่งของตัวเอง ให้ดูในบอร์ดดิ้งพาส จะมีหมายเลขที่นั่งอยู่ “Seat” และพึงตระหนักเสมอว่าเรานั่งตรงไหน ขึ้นเครื่องไปก็พุ่งตัวไปยังที่นั่งได้ทันที อย่ายืนงงกลางเครื่อง ทำให้ผู้โดยสารคนอื่นเดินผ่านไม่ได้ และอย่าคาดหวังว่าขึ้นเครื่องไปแล้วแอร์จะเดินนำเสด็จพาไปยังที่นั่งนะคะ แอร์มีน้อยกว่าผู้โดยสารเป็นสิบเท่าค่ะ ช่วยเหลือตัวเองกันนิดนึง
- เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนขึ้นเครื่อง จะได้ไม่ต้องทำรถติด เดินสวนไปสวนมาบนเครื่อง
- หลังประตูเครื่องปิด กรุณานั่งประจำที่ และรัดเข็มขัดให้เรียบร้อยค่ะ เพราะถ้าคุณยังเปิด compartment หยิบกระเป๋า เดินเข้าห้องน้ำ << เครื่องจะออกไม่ได้ค่ะ
- พิเศษในแอร์เอเชีย ช่วงที่ทำการสาธิตอุปกรณ์ต่างๆ กรุณางดบันทึกภาพต่างๆ ค่ะ
- ก่อนเครื่องขึ้นและเครื่องลง ปรับเบาะให้อยู่ในตำแหน่งตรง เก็บโต๊ะ และเปิดหน้าต่างด้วยค่ะ แอร์จะได้ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะบอกแล้วบอกอีก ทั้งหมดนี้เหตุผลคือความปลอดภัย นึกง่ายๆ ตอนเครื่องลง มักจะเกิด impact จากการเบรก (เหมือนเบรกรถแรงๆ) หน้าเราก็จะจิ้มไปข้างหน้า ถ้าคนที่นั่งข้างหน้าเราเอนเบาะมา… หน้าเราก็จะกระแทกกับเบาะไงคะ ส่วนที่ต้องเปิดหน้าต่างก็เพราะว่า ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือ ช่วงเครื่องขึ้นและลงนี่แหละค่ะ เพราะฉะนั้นต้องให้ผู้โดยสารช่วยเป็นหูเป็นตา ว่าข้างนอกมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า (เกิดเครื่องยนต์ตรงปีกไฟไหม้ขึ้นมา ผู้โดยสารจะเห็นก่อนค่ะ)
คร่าวๆ ก็ประมาณนี้ หวังว่าช่วงฤดูร้อนนี้ ทุกคนจะมีความสุขกับการพักผ่อนนะคะ และร่วมมือกันคนละแรงสองแรง ก็จะช่วยให้พวกเราเดินทางได้ตรงเวลาขึ้นค่ะ 🙂